ประวัติโรงพยาบาล

ประวัติโรงพยาบาลเมืองจันทร์


ที่ตั้ง

110 หมู่ 4  ตำบลหนองใหญ่  อำเภอเมืองจันทร์  จังหวัดศรีสะเกษ  33120

โทรศัพท์ 090-2914940,063-1045489     โทรสาร 045 - 603053

เว็ปไซต์ http://www.mch.go.th

หน่วยบริการระดับปฐมภูมิ ขนาด 30 เตียง

เนื้อที่ 52 ไร่  1 งาน  1.25 ตารางวา

โรงพยาบาลเมืองจันทร์ (MueangChan Hospital - MCH) เดิมเป็นป่าช้า ต่อมาในปี 2537 ได้ก่อตั้งเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง
โรงพยาบาลเมืองจันทร์ เป็นโรงพยาบาลของรัฐบาลภายใต้การกำกับของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
ห่างจากจังหวัดศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร โดยมีอาคารหลังแรกคืออาคารผู้ป่วยนอกลักษณะตัวอาคาร เป็นอาคาร
คอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียวตามแบบแปลนของกระทรวงสาธารณสุข ช่วงแรกของการเปิดดำเนินการยังขาดความพร้อมหลายด้าน อาทิ
ขาดบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ตลอดทั้งอุปกรณ์  และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ไม่พอเพียง ต่อมามีจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 15 คน ภายในอาคารประกอบด้วยห้องที่สำคัญ คือ ห้องอำนวยการ ฝ่ายบริหาร ห้องประชุมเล็ก ฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ แผนกผู้ป่วยฉุกเฉิน
ห้องตรวจโรค ห้องตรวจภายใน ฝ่ายสุขาภิบาล และป้องกันโรค แผนกผู้ป่วยใน ห้องเอกซเรย์  และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองจันทร์ ส่วนหน่วยจ่ายกลาง  และซักฟอก คลังยา พัสดุตั้งอยู่ที่อาคารพัสดุตามแบบแปลนกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงระหว่างที่โรงพยาบาลกำลังก่อสร้างและสร้างแล้วเสร็จใหม่ๆ ซึ่งกลางคืนจะมีความเงียบ และน่ากลัว เนื่องจากเป็นที่เปลี่ยว ชุมชนไม่หนาแน่น การคมนาคมลำบาก เมื่อเริ่มแรกเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่มีใครรู้จักมากนัก มีผู้มารับบริการไม่มาก คนไข้ส่วนมากยังคงไปใช้บริการจากโรงพยาบาลอุทุมพรพิสัย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลพี่เลี้ยง
ในขณะนั้นและโรงพยาบาลแห่งอื่น

โรงพยาบาลเมืองจันทร์ ตั้งอยู่ที่ 110  หมู่ที่ 4  บ้านหนองดุม  ตำบลหนองใหญ่  อำเภอเมืองจันทร์   จังหวัดศรีสะเกษ  เนื้อที่ 52 ไร่    1 งาน
1.25 ตารางวา มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ คือทะเบียนที่ราชพัสดุ ลำดับที่ 1 เลขที่ อจ.388  สถานที่ตั้งเมื่อก่อนเป็นป่าเขตฌาปนสถาน และเขตป่าชุมชน ทำเลที่ตั้งเป็นที่ดอนบนที่ดินรกร้างว่างเปล่าส่วนมากเป็นทุ่งหญ้า และมีต้นไม้สูงใหญ่ ใบหนา มีฝูงนกฝูงกาอาศัยอยู่มาก เดิมเรียกชื่อสถานที่บริเวณแห่งนี้ว่า “ดงโนนหนองตุ” ซึ่งในช่วงแรกมีพี่น้องบรรพบุรุษชาวส่วยเป็นผู้บุกเบิก

แพทย์ผู้อำนวยการท่านแรก คือนายแพทย์มหิธร ทองเสี่ยน ได้เป็นแพทย์ประจำตรวจดูแลผู้ป่วย และร่วมบุกเบิกพัฒนาโรงพยาบาลได้รับงบประมาณในการก่อสร้างบ้านพักเจ้าหน้าที่ระดับ 1-2 จำนวน 3 หลัง ระดับ 3 - 4 จำนวน 2 หลัง และระดับ 5 จำนวน 1 หลัง ซึ่งเป็นบ้านพักของผู้อำนวยการในปัจจุบัน และต่อมาได้รับการจัดสรรงบประมาณสร้างแฟลตพักเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีทั้งสิ้น 20 ยูนิต ตอนนั้นถือได้ว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ต่อมาโรงพยาบาลภายใต้การนำของ นายแพทย์สุรชัย คำภักดี ได้มีการขยายขอบเขตการบริการด้านการแพทย์แผนไทย โดยได้จัดสร้างผ้าป่าสามัคคีเพื่อรวบรวมทุนทรัพย์สร้างอาคารแพทย์แผนไทย ซึ่งตั้งอยู่ทางซ้ายมือด้านหน้าของโรงพยาบาล ในช่วงนั้นโรงพยาบาลประสบปัญหาด้านการเงิน  การคลังมีภาระค่าใช้จ่ายสูงในการพัฒนาคุณภาพการบริการ  และโครงสร้าง แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติงานก็ยังไม่ย่อท้อในการให้บริการแม้รู้ว่าจะยังไม่ได้รับค่าตอบแทนก็ตาม จนกระทั่งต่อมาเกิดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ท่านนายแพทย์ประวิ อ่ำพันธุ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ จึงได้มารักษาการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนต่อมา ท่านได้ให้การช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินของโรงพยาบาลจนดีขึ้นตามลำดับ

ต่อมาปีพ.ศ.2549 แพทย์หญิงจันทิรา หงส์รพิพัฒน์ ได้มาเป็นแพทย์ตรวจประจำที่โรงพยาบาลเมืองจันทร์ อันเป็นเวลาเดียวกันที่
ท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มารักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล เมื่อแพทย์หญิงจันทิรา หงส์รพิพัฒน์ ปฏิบัติงานจนเริ่มวางแผนเพื่อการพัฒนาคุณภาพในการให้บริการผู้ป่วยมากขึ้น ได้เกิดนวัตกรรมในการช่วยเหลือผู้ป่วยตามบริบทต่างๆ มากมาย ที่ชัดเจนได้แก่การมี "รถคุนะคุเนียแซมซาย" ในการไปรับ - ส่งผู้ป่วยที่ต้องมาตรวจตามนัด เพื่อลดปัญหาการขาดนัด  และลดภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ ท่านจึงตัดสินใจรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลใน พ.ศ.2550 ซึ่งได้มีการนำมาตรฐานโรงพยาบาล  บริการสุขภาพของสถาบันพัฒนา  และรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (Hospital Accreditation - HA) เป็นเครื่องมือในการดำเนินการจนเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น จนกระทั่งถึงปีพ.ศ.2551 แพทย์หญิงจันทิรา หงส์รพิพัฒน์ จึงได้ลาศึกษาต่อ อย่างไรก็ตามในขณะนั้นโรงพยาบาลเมืองจันทร์ได้เปิดให้บริการในขนาด 10 เตียงอยู่ยังคงขาดแคลนแพทย์และ
เจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นอยู่หลายอย่าง ในช่วงนั้นมีผู้ป่วยนอกที่มาตรวจรักษาเพิ่มมากขึ้น  เพราะทราบว่ามีแพทย์มาอยู่ประจำ แต่โดยส่วนมากก็ยังคงมีความกังวลว่ามาโรงพยาบาลแล้วจะไม่ได้พบแพทย์  เพราะมีแพทย์อยู่ประจำเพียงท่านเดียวซึ่งต้องทำงานทั้งการให้บริการผู้ป่วยและงานบริหารพัฒนาโรงพยาบาล

ในปีพ.ศ.2551 นายแพทย์จิระวัตร วิเศษสังข์  ได้มาปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ประจำและรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ  ต่อจากแพทย์หญิงจันทิรา หงส์รพิพัฒน์ และได้สานต่อการพัฒนาโรงพยาบาลเพื่อให้เป็นที่พึ่งพิงของชาวเมืองจันทร์เมื่อเจ็บป่วยไข้ได้ตลอดเวลา ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องพยายามอยู่เวรตลอดเวลาทุกวัน จากความร่วมมืออันดีในการพัฒนาโรงพยาบาลของเจ้าหน้าที่ทุกคนทำให้ มีผู้มารับบริการเพิ่มมากขึ้น และมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น จึงได้มีการดำเนินการเพื่อขอขยายขนาดของโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาล 30 เตียง ซึ่งได้รับการอนุมัติงบประมาณ เพื่อสร้างอาคารผู้ป่วยในโดยการสนับสนุนจากท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด จนกระทั่งสามารถเปิดให้บริการเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2552 โดยมีท่านผู้ว่าฯระพี ผ่องบุพกิจ ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษในขณะนั้น ให้เกียรติมาเป็นประธานในการเปิดอาคารผู้ป่วยในหลังแรก และได้รับอนุมัติให้ขยายขนาดเป็นโรงพยาบาล 30 เตียง จากสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการยังมีความบกพร่องในหลายด้านจากการที่มีจำนวนผู้ป่วย ที่เพิ่มมากขึ้น ความซับซ้อนของโรคเพิ่มขึ้น อัตรากำลังที่ไม่เพียงพอทำให้คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล ได้วางแผนร่วมกันในการปรับปรุงเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการเปิดกว้างในการรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มารับบริการเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย และญาติ ในช่วงนั้นได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากพี่น้องชาวอำเภอเมืองจันทร์ หน่วยงานเอกชนทั่วไป ให้การสนับสนุนการสร้างห้องพิเศษ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็น ดังรายชื่อในป้ายผู้บริจาค ซึ่งช่วยทำให้โรงพยาบาลสามารถยกระดับการพัฒนาให้การบริการที่จำเป็นกับพี่น้องชาวอำเภอเมืองจันทร์ และใกล้เคียงได้มากขึ้น

ปัจจุบันภายใต้การนำของนายแพทย์จิระวัตร วิเศษสังข์ พร้อมทั้งความร่วมแรงร่วมใจจากบุคลากร ที่หลอมรวมหัวใจทั้ง 103 ดวงมาเป็นหนึ่งใจเดียวกันยังคงพร้อมที่จะให้บริการด้วยคุณภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย ใกล้ชิดประชาชนต่อไป โดยการสนับสนุนของพี่น้องชาวเมืองจันทร์ทุกคน เพราะนี่คือโรงพยาบาลของท่าน เป็นโรงพยาบาลชั้นนำในชุมชนที่มีศักยภาพให้บริการด้านสุขภาพอย่างครอบคลุมทุกด้าน  และมุ่งดำเนินการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสู่ระดับสากลต่อไป

ปัจจุบันโรงพยาบาลเมืองจันทร์  เป็นโรงพยาบาลชุมชุน  ขนาด 30 เตียง มีหน่วยบริการเครือข่ายทางสุขภาพ คือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองจันทร์ (สสอ.เมืองจันทร์) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในเครือข่ายจำนวน 4 แห่ง ตามลำดับ ดังนี้

1. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองจันทร์   ตำบลเมืองจันทร์

2. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเก็บงา   ตำบลเมืองจันทร์

3. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตาโกน          ตำบลตาโกน

4. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปลาซิว         ตำบลหนองใหญ่

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้

1. ทิศเหนือ          ติดต่อกับ    อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ

2. ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ   อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณและอำเภออุทุมพรพิสัย

3. ทิศใต้               ติดต่อกับ    อำเภอห้วยทับทัน

4. ทิศตะวันตก     ติดต่อกับ    อำเภอสำโรงทาบ อำเภอโนนนารายณ์ และอำเภอรัตนบุรี (จังหวัดสุรินทร์)

อำเภอเมืองจันทร์แบ่งเขตการปกครองย่อย ออกเป็น 3 ตำบล 52 หมู่บ้าน ได้แก่

1. ตำบลเมืองจันทร์ (Mueang Chan) 25 หมู่บ้าน

2. ตำบลตาโกน (Takon) 15 หมู่บ้าน

3. ตำบลหนองใหญ่ (Nong Yai) 12 หมู่บ้าน

ท้องที่อำเภอเมืองจันทร์ ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 แห่ง ได้แก่

1. เทศบาลส่วนตำบลเมืองจันทร์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองจันทร์ทั้งตำบล

2. องค์การบริหารส่วนตำบลตาโกน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลตาโกนทั้งตำบล

3. เทศบาลตำบลหนองใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองใหญ่ทั้งตำบล



โรงพยาบาลเมืองจันทร์
110 หมู่ 4 ตำบลหนองใหญ่ อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ 33120
เบอร์โทรศัพท์ :090-2914940,063-1045489 โทรสาร 045-603053